เกาะบราวน์ซี

เกาะบราวน์ซี ( Brownsea  Island )

จุดกำเนิดของการลูกเสือโลก

11

ศิลาจารึกที่เกาะบราวน์ซี อนุสรณ์ค่ายลูกเสือแห่งแรกของโลก ซึ่งบี.พี. ใช้ฝึกอบรมลูกเสือ

1 – 9   สิงหาคม พ.. 2450  (Scouts Canada. 1977)

บทนำ

          บทนำแห่งประวัติศาสตร์ของการลูกเสือโลก  ได้เริ่มต้นเมื่อวันที่  1  สิงหาคม  พ.ศ. 2450 เมื่อนายทหารแห่งกองทัพบกอังกฤษผู้หนึ่ง คือ พลโทโรเบิร์ต เบเดน เพาเวลล์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นจเรทหารม้าแห่งกรมทหารม้ารักษาพระองค์ ฯ ได้ตัดสินใจนำเด็ก ๆ จำนวน  20  คน ไปอยู่ที่ค่ายพักแรมทดลอง(Experimental Camp) ที่เกาะบราวน์ซี ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ตั้งอยู่ที่ปากอ่าวเมืองพูล  (Poole Harbour)  ตั้งแต่วันที่ 1 – 9 สิงหาคม พ.ศ.  2540 ค่ายพักแรมของเด็กนี้ จึงถือว่าเป็นลูกเสือแห่งแรกของโลก (The World, first Scout Camp)  (Charles Maclean. 1961 )

เด็กทุกคนในจำนวนนี้  ไม่มีใครคาดฝันว่าจะต้องเดินทางไปอยู่ค่ายพักแรมในสมัยนั้นเพราะผู้ที่จะไปเข้าค่ายฯ มีแต่ทหารเท่านั้นเหนือสิ่งอื่นใดในความคิดคำนึงของเด็ก ๆ เหล่านี้ก็คือ  ความตื่นเต้นและมหัศจรรย์ที่ได้มีโอกาสสัมผัสและใกล้ชิดกับวีรบุรุษผู้กล้าหาญแห่งยุค  ผู้สร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ไว้ที่เมืองมัฟฟีคิง( Mafeking ) ในแอฟริกาใต้ยากที่จะมีผู้มาเปรียบเสมอเหมือนได้  จนเลื่องลือไปทั่วประเทศอังกฤษในสมัยนั้น  เขาผู้นี้ก็คือ พลโทโรเบิร์ต เบเดน เพาเวลล์ นั่นเอง ( ซึ่งต่อไปจะเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า บี.พี.)  ผู้สร้างวีรกรรมในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี บี.พี. ได้คุมกำลังทหารอังกฤษ  ซึ่งมีจำนวนเพียงเล็กน้อย ( 750 คน )  ทำการต่อสู้รักษาเมืองมัฟฟีคิงให้รอดพ้นจากวงล้อมและการบุกโจมตีของกองทัพข้าศึก คือ  กองทัพของโบเออร์  ( Boer – คือ ชาวดัทซ์ ที่อยู่ในแอฟริกาใต้ )  ซึ่งมีอาวุธครบครัน มีกำลังพลมากกว่ากองทหารของบี.พี. อย่างมหาศาล  สุดที่จะเปรียบเทียบกันได้ (คือ มีจำนวนทหารถึง 9,000 คน)  ในสงครามโบเออร์ ( Boer War ) จึงนับเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างไม่น่าเชื่อที่ บี.พี. คุมกำลังเพียงน้อยนิด ต่อสู้ป้องกันเมืองมัฟฟีคิง  ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญอยู่ติดกับชายแดนของทรานสวาล และกำลังมีข้อพิพาทกันระหว่างอังกฤษกับโบเออร์ แต่ด้วยความมีไหวพริบ เฉลียวฉลาด อัจฉริยะ บวกกับความสามารถและความกล้าหาญ บี.พี. จึงสามารถรักษาเมือง ฯ ให้รอดพ้นอยู่ได้นานถึง 217 วัน  (ตั้งแต่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2442 ถึง  16 พฤษภาคม พ.ศ.  2443 )  จนกระทั่งประเทศอังกฤษส่งกองทัพไปช่วยทันเวลา กองทัพข้าศึกที่บุกล้อมจึงแตกพ่ายกลับไป  ชื่อเสียงของ บี.พี. จึงโด่งดังมาก ไม่เพียงแต่ในประเทศอังกฤษเท่านั้น แต่ประชาชน ทั่วโลก  ต่างก็แซ่ซ้องสรรเสริญวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของ บี.พี. ครั้งนี้ (Charles  Maclean. 1961 )