ความเป็นมาขององค์การลูกเสือโลก

ความเป็นมาขององค์การลูกเสือโลก

ภายหลังการประสบความสำเร็จของ บี.พี.  ในการทดลองการอยู่ค่ายพักแรมของเด็ก ๆ ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่  1 – 9  สิงหาคม พ.ศ. 2450 ที่เกาะบราวน์ซี อันนับว่าเป็นค่ายลูกเสือแห่งแรกของโลก และจากการเริ่มต้นด้วยการพิมพ์หนังสือเรื่อง “ การลูกเสือสำหรับเด็กชาย ” (Scouting for Boys)

พิมพ์ออกจำหน่ายเป็นรายปักษ์ในราคาถูก (เล่มละ 4 เพ็นนี)  และได้เผยแพร่จนมีผู้นิยมชมชอบ สนุกสนาน ตื่นเต้นกันอย่างคลั่งไคล้ทั่วโลก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็ก ๆ ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ต่างก็ตื่นเต้น กระตือรือร้นอยากจะเป็นลูกเสือ เด็ก ๆ เหล่านั้นจึงเรียกหาและอ้อนวอนผู้ใหญ่ที่ตนรู้จักและสนิทสนมกันให้มาเป็นผู้กำกับ ส่วนผู้ใหญ่ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็กระตือรือร้นอยากเป็นผู้กำกับลูกเสือ เพื่อนำเด็ก ๆ เหล่านี้ให้ทำกิจกรรม และได้รับการฝึกหัดตามแผนการฝึกอบรมของ บี.พี.  อานิสงส์จากหนังสือเล่มนี้  ทำให้กิจการลูกเสือแพร่หลายไปทั่วโลกในระยะเวลาไม่นานในปี พ.ศ.  2451 ได้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในประเทศอังกฤษ และในปีเดียวกันนี้ก็ได้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในประเทศเครือจักรภพอังกฤษด้วย คือ ประเทศแคนาดา  ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์

ในปี  พ.ศ.  2452  ตั้งกองลูกเสือขึ้นในประเทศอินเดียและในประเทศชิลี  ประเทศชิลีเป็นประเทศแรกที่ไม่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษที่ได้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้น

ในปี พ.ศ. นายวิลเลี่ยม  บอยซ์  ( Mr.  William  Boyce ) เจ้าของโรงพิมพ์ที่เมืองชิคาโก ได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นในสหรัฐอเมริกา

ต่อจากนั้นเพียงระยะเวลาไม่กี่ปี กิจการลูกเสือก็ขยายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  ในปี พ.ศ. 2463  สมาคมลูกเสืออังกฤษจึงได้จัดให้มีการชุมนุมลูกเสือจากทั่วโลกเป็นครั้งแรก ที่เมืองโอลิมเปีย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ การชุมนุมลูกเสือครั้งนี้จึงถือเป็นการชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่  1 ( The First World Jamboree )  มีลูกเสือเข้าร่วมการชุมนุม  8,000  คน  จาก  34 ประเทศ  ประเทศไทยได้ส่งผู้แทนไปร่วมการชุมนุมด้วย 4 คน โดยคัดเลือกเอานักเรียนของกระทรวงธรรมการ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ในขณะนั้นคือ  1.  นายสนั่น สุมิตร    2. นายศิริ หัพนานนท์     3.   นายส่ง  เทพาสิต 4. นายศิริ แก้วโกเมน ในการชุมนุมลูกเสือโลกครั้งนี้  (The First World Jamboree)  ได้มีข้อตกลงและมติเกิดขึ้นเป็นเอกฉันท์จาก ลูกเสือที่เข้าร่วมชุมนุมกันจากทั่วโลก 3 ข้อ คือ

(1) ให้ ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ เป็นประมุขคณะลูกเสือแห่งโลกตลอดกาล (Chief Scout of The World)

(2) ให้มีการประชุมผู้บังคับบัญชาลูกเสือซึ่งเป็นผู้แทนของทุกประเทศขึ้นในระหว่างการชุมนุมลูกเสือโลกครั้งนี้ และการประชุม ฯ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประชุมสมัชชาลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 (ในตอนนั้นใช้ชื่อว่า 1 st Boy Scout International Conference) และในการประชุมสมัชชาลูกเสือโลกครั้งนี้ ที่ประชุม ฯ มีมติว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ให้มีการประชุมสมัชชาลูกเสือ ทุก ๆ 2 ปี ต่อครั้ง

(3) ให้จัดตั้งสำนักงานลูกเสือโลก (ในตอนนั้นใช้ชื่อว่า Boy Scout International Bureau) นายฮิวเบิร์ต เอส มาร์ติน (Mr. Hubert S. Martin) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานลูกเสือโลก เป็นคนแรก ในระยะเวลาหลายปีต่อมา ตำแหน่งผู้อำนวยการนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็นตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานลูกเสือโลก (Secretary General of the Boy Scouts International Bureau)    (Rez Hazlewood. 1967.)

ในปี พ. ศ.  2465 จึงได้มีการจัดประชุมสมัชชาลูกเสือโลก ครั้งที่  2 (The 2 nd Boy Scout International Conference) ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในการประชุมสมัชชาลูกเสือโลกครั้งนี้ มีผู้แทนเข้าร่วม 31 ประเทศ และที่ประชุมได้เลือกตั้งคณะกรรมการลูกเสือโลก (ในสมัยนั้นเรียกว่า Boy Scout International Committee) ขึ้นมา 9 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารองค์การลูกเสือโลก