วิธีการฝึกอบรม

วิธีการฝึกอบรม

          บี.พี. แบ่งเด็ก 20 คน  ออกเป็น 4 หมู่ ๆ ละ  5 คน  มีหมู่นกเคอร์ลิว หมู่นกดุเหว่า  หมู่หมาป่า หมู่วัว โดยจัดให้คนที่มีอายุมากที่สุดในหมู่เป็นนายหมู่ นายหมู่แต่ละคนมีไม้พลอง พร้อมด้วยธงรูปสัตว์ ประจำหมู่ ผูกติดที่ปลายพลอง เด็กทุกคนมีเครื่องหมายเฟลอร์เดอลีส์ทำด้วยสักกะหลาดติดที่หน้าหมวก

ในวันแรกของการฝึกอบรม ฯ บี.พี. ชี้แจงถึงกิจวัตรประจำวัน หน้าที่ของแต่ละคน และกิจกรรมที่จะต้องปฏิบัติในวันแรกของ บี.พี. ได้วางแผนกิจกรรมแต่ละวันเป็นอย่างดีและควบคุมกิจกรรมด้วยตนเอง แต่ละวันบี.พี. ต้องประชุมร่วมกับนายหมู่ และทบทวนกำหนดการฝึกอบรมของวันรุ่งขึ้นกับนายหมู่ และสอนทักษะสำหรับกิจกรรมนั้นๆ แก่นายหมู่เป็นพิเศษ นายหมู่ต้องรับผิดชอบหมู่ของตน และสอนลูกหมู่จนสำเร็จ

สิ่งที่น่าจดจำเป็นพิเศษ  แผนการฝึก ฯ ของบี.พี. มีวิธีการฝึกที่ทำให้เด็ก ๆ สนุกสนาน ไม่เบื่อหน่าย มีกิจกรรมที่เร้าใจ และน่าตื่นเต้นทุกกิจกรรม เช่น สอนวิชาพิจารณา สังเกตและจำ  อาจสอนเรื่องการสะกดรอย บี.พี. สามารถทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้ถึงสถานการณ์และอนุมานถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับเป็นเรื่องเป็นราวจากรอยเท้าในลักษณะต่างๆ แล้วต่อด้วยการเล่นเกมสะกดรอย แม้แต่ตอนกลางคืน บี.พี. ก็มักจะสร้างสถานการณ์ตลอดเวลา  มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับการบุกรุกด้วยวิธีการต่างๆ โดยไม่ให้รู้ตัว บางหมู่อาจได้รับคำสั่งให้เดินทางออกไปศึกษาและสำรวจสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งนอกค่าย ฯ  ในตอนกลางคืน และให้พักแรมโดยสร้างที่พักขึ้นเอง เพื่อการฝึกการใช้ชีวิตในป่า กิจกรรมต่าง ๆ  มีทั้งกิจกรรมบนบก และกิจกรรมทางน้ำนี้เองที่นำไปสู่การลูกเสือสมุทร (Sea Scouts) ในโอกาสต่อมา

สรุปแล้ว  กิจกรรมทุกกิจกรรม บี.พี.  มุ่งหมายที่จะสร้างลักษณะที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก ตามแบบฉบับของอัศวินในสมัยก่อน คือ ฝึกให้มีความกล้าหาญ มีคุณธรรม สุภาพ อ่อนโยน ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่อ่อนแอกว่า ฯลฯ แต่ที่สำคัญก็คือ  ทุกกิจกรรมที่ บี.พี. นำมาสอนนั้น บี.พี.  ต้องเตรียมล่วงหน้าเป็นอย่างดี ทุกเรื่อง และสุดยอดของกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน จะมารวมอยู่ที่การชุมนุมรอบกองไฟ (Camp Fire) ซึ่ง บี.พี. ถือว่าเป็นหัวใจของกิจกรรมทั้งหลาย เพราะเด็ก ๆ จะได้ผ่อนคลายความตึงเครียดจากที่ได้ฝึกอบรมมาทั้งวันทุกคนได้มีโอกาสสนุกสนานเฮฮากันเต็มที่ ในรูปแบบต่าง ๆ ของการลูกเสือ แล้วจบการชุมนุมรอบกองไฟด้วยการเล่านิทานอันเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้เด็ก ๆ ได้จดจำเป็นแนวปฏิบัติในชีวิตของตนภายภาคหน้าต่อไป12

การเล่านิทานในการชุมนุมรอบกองไฟเช่นนี้  บี.พี.  เรียกว่า Campfire Yarn และ Campfire Yarnn ของ บี.พี. ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องการผจญภัยในชีวิตจริงๆ ของ บี.พี. เอง    ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรักชาติ ความกล้าหาญ    ความอดทน  ความมีไหวพริบ ความเฉลียวฉลาดในการแก้ปัญหา ความรู้ความสามารถในวิชาเชิงพราน ความรอบรู้ในวิชาการลูกเสือทั้งหลาย เพื่อนำมาแก้ไขสถานการณ์ในชีวิตจริง ๆ ให้ได้ Campfire Yarn  ของ บี.พี. จึงถือเป็นบทเรียนประจำวัน แลจะเรียงลำดับกันต่อ ๆ ไปทุกวัน เป็น Campfire Yarn ที่ 1, Campfire Yarn 2 , ที่ 3 ต่อ ๆ ไป จนก่อนถึงวันสุดท้ายของการอยู่ค่ายพักแรม การชุมนุมรอบกองไฟ  ( Camp Fire )  จึงถือเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งบทหนึ่งในการฝึกอบรมลูกเสือ และจะเป็นกิจกรรมที่สามารถปลูกฝังคุณธรรม ลักษณะนิสัย และจิตใจที่ดีให้แก่เด็กได้เป็นอย่างดี (Scouts Canada. 1977.) วิธีการต่าง ๆ ในการฝึกอบรมเด็ก ๆ ที่เกาะบราวน์ซี ในปี พ.ศ.  2450 นี้จึงเป็นวิธีการของลูกเสือ ที่ใช้เป็นแบบฉบับในการฝึกอบรมลูกเสือทุกหนทุกแห่ง จนถึงทุกวันนี้