สมัชชาลูกเสือโลก(ต่อ2)

หน้าที่ของคณะกรรมการสรุปมติการประชุมสมัชชาลูกเสือโลก (ครั้งที่ 33)

          คณะกรรมการสรุปมติ ฯ ชุดนี้จะเป็นผู้นำข้อญัตติที่ได้จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้วเสนอให้ที่ประชุมสมัชชาลูกเสือโลกพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ ถ้าหากที่ประชุม ฯ  เห็นชอบ ก็ให้ถือเป็นมติของสมัชชาลูกเสือโลกซึ่งในประเทศสมาชิกทุกประเทศจะต้องนำไปปฏิบัติต่อไปแต่ถ้าที่ประชุม ฯ ไม่เห็นชอบด้วย ข้อญัตติที่เสนอนั้นก็ตกไปการที่จะประกาศว่าที่ประชุม ฯ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในข้อญัตติที่เสนอขึ้นไปนั้น  พิจารณาได้จากคะแนนเสียงส่วนใหญ่ ให้การสนับสนุน หรือคัดค้านข้อญัตตินั้น ๆ

ระเบียบข้อญัตติในที่ประชุม ฯ

  1. การเสนอข้อญัตติเข้ารับการพิจารณา เพื่อให้ที่ประชุม ฯ ลงมติในข้อญัตติใดๆ ก็ตาม ถ้าหากผู้เสนอข้อญัตติเป็นผู้แทนของประเทศสมาชิก ข้อญัตติที่เสนอไปนั้น       ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้แทนประเทศสมาชิกอื่น ๆ ด้วย มิฉะนั้นข้อญัตตินั้นจะตกไป และไม่ได้รับการพิจารณาในที่ประชุม ฯ
  2. ถ้าผู้เสนอข้อญัตตินั้น เป็นกรรมการลูกเสือโลก ก็เสนอได้เลย โดยไม่ต้องขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง
  3. ประเทศสมาชิก ฯ ที่ประสงค์จะเสนอข้อญัตติ อันเกี่ยวกับการแก้ไขธรรมนูญลูกเสือโลก หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญ ๆ ขององค์การลูกเสือโลก จะต้องส่งร่างข้อญัตตินั้น ๆ ไปยังสำนักงานลูกเสือโลก ล่วงหน้าเป็นเวลา 4 เดือน นับจากวันที่เสนอร่างข้อญัตติไปยังสำนักงานลูกเสือโลก จนถึงวันที่เปิดการประชุมสมัชชาลูกเสือโลก
  4. ในกรณีที่ประเทศสมาชิก ฯ ประสงค์จะเสนอข้อญัตติเพิ่มเติมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุม ฯ ก็สามารถทำได้โดยเสนอร่างข้อญัตติให้กับเลขานุการคณะกรรมการสรุปมติภายในเวลาไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง ก่อนการเริ่มต้นของการประชุมใหญ่ ครั้งสุดท้าย