ระบบในการแบ่งประเภทของลูกเสือ

ระบบในการแบ่งประเภทของลูกเสือ

เพื่อความสะดวกในการฝึกอบรมและการจัดกิจกรรมของลูกเสือ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์  (PURPOSE )  หลักการ  ( PRINCEPLES )   และวิธีการ  ( METHOD ) ขององค์การลูกเสือโลกองค์การลูกเสือแห่งชาติหรือสมาคมลูกเสือประเทศต่าง ๆ จึงได้มีระบบในการแบ่งประเภทของลูกเสือตามความเหมาะสมความจำเป็นและความสะดวกของตน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระบบการแบ่งประเภทของลูกเสือคล้าย ๆ กัน หรือเหมือนกันจะแตกต่างกันบ้างไม่มากนัก โดยหลักการทั่วไปแล้ว ในทุกประเทศจะยึดเอาระดับอายุของเด็กเป็นเกณฑ์ ในการแบ่งประเภทของลูกเสือ โดยคำนึงถึงพัฒนาการของร่างกายและจิตใจของเด็กเป็นพื้นฐานในการจัดหลักสูตรและกิจกรรมในการฝึกอบรม เพื่อให้เหมาะสมแก่วัยของเด็กโดยธรรมชาติ จึงสามารถช่วยลูกเสือได้รับการพัฒนาศักยภาพในทุก ๆ ด้าน  ได้อย่างเต็มที่ สมาคมลูกเสือของประเทศต่าง ๆ โดยมากมักจะเอกแบบอย่างการแบ่งประเภทของลูกเสือตามแบบอย่างของคณะลูกเสืออังกฤษ (ตามแบบเก่า)  เป็นแบบฉบับ แต่ก็มีหลายประเทศที่เอาแบบอย่างการแบ่งประเภทของคณะลูกเสืออเมริกา

  1. 1. ระบบลูกเสืออังกฤษ ( แบบเก่า ) แบ่งลูกเสือออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1.1  ลูกเสือสำรอง ( Cob Scout )  มีอายุตั้งแต่ 8 – 11 ปี  การฝึกอบรมและกิจกรรมของลูกเสือสำรอง จึงต้องจัดให้เหมาะสมกับวัยของเด็กโดยคำนึงถึงพัฒนาการของร่างกายและจิตใจเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าเด็กนั้นกำลังเรียนอยู่ในชั้นระดับใดก็ตาม จะเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียน หรือไม่เป็นนักเรียนก็ตาม

ลูกเสือสำรอง มีคติพจน์ว่า  “ ทำดีที่สุด ” ( Do Our Best )

1.2  ลูกเสือสามัญ( Boy Scouts )  มีอายุตั้งแต่  11  – 1 5 ปี  เด็กในวัยนี้เริ่มได้รับการฝึกอบรมให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น เริ่มใช้ชีวิตกลางแจ้ง และการผจญภัย เน้นระบบหมู่และการเป็นผู้นำ การบำเพ็ญประโยชน์โดยทั่วไป

ลูกเสือสามัญมีคติพจน์ว่า  “ เตรียมพร้อม ”  ( BE PREPARED )

1.3  ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ( Senior Scout ) มีอายุตั้งแต่ 15 ถึง 18 ปี  ลูกเสือในวัยนี้เริ่มมีความรับผิดชอบสูง การฝึกอบรมและกิจกรรมเน้นเรื่องระบบหมู่และการเป็นผู้นำระบอบประชาธิปไตย  ฝึกการใช้ชีวิตกลางแจ้ง การผจญภัยและทักษะวิชาลูกเสือมาก ฝึกอบรมความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพตามที่ถนัดรวมทั้งการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นมากขึ้น

ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ มีคติพจน์ว่า  “ มองไกล  ”  ( LOOK  WIDE  )

1.4       ลูกเสือวิสามัญ  ( Rover  Scout )  มีอายุตั้งแต่ 17 – 23 ปี  ลูกเสือวิสามัญเป็นวัยของคนหนุ่ม การฝึกอบรมลูกเสือวิสามัญ เพื่อมุ่งที่จะเตรียมให้คนหนุ่มเหล่านี้พร้อมที่จะใช้ชีวิตผู้ใหญ่อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบ ให้เป็นพลเมืองดี ที่มีความรับผิดชอบต่อไป

การฝึกอบรม เน้นการเป็นผู้นำระบอบประชาธิปไตย การวางแผนโครงการ และการปฏิบัติงานตามโครงการ ฝึกให้นิยมชีวิตกลางแจ้ง การให้บริการต่อผู้อื่นและสังคมเป็นชีวิตจิตใจ ยึดมั่นในคติพจน์ว่า “ บริการ ”  (SERVIE)

องค์การลูกเสือแห่งชาติหรือสมาคมลูกเสือในประเทศต่าง  ๆที่มีระบบการแบ่งประเภทของลูกเสือตามแบบฉบับของอังกฤษ (แบบเก่า)  เช่น คณะลูกเสือแห่งชาติ ( ไทย ) สมาคมลูกเสือมาเลเซีย คณะลูกเสือแห่งประเทศญี่ปุ่น สมาคมลูกเสือเกาหลี  สมาคมลูกเสือออสเตรเลีย สมาคมลูกเสือนิวซีแลนด์ เป็นต้น