กิลเวลล์ปาร์ค(ต่อ5)

การขออนุญาตออกวุฒิบัตร   ฯ และการขอลิขสิทธิ์ในการจัดทำชุดเครื่องหมายวูดแบดจ์

การขออนุญาตออกวุฒิบัตร   ฯ และการขอลิขสิทธิ์ในการจัดทำชุดเครื่องหมายวูดแบดจ์ดังกล่าว โดยไม่เสนอให้ค่าลิขสิทธิ์แก่กิลเวลล์ปาร์คเลยนั้น นับเป็นเรื่องที่ยากมากทีเดียว  แต่ก็พยายามอย่างดีที่สุดจนประสบผลสำเร็จ ความสำเร็จในครั้งนี้จะช่วยให้

–  ประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่สำเร็จการฝึกอบรม ฯ ขั้นวูดแบดจ์ ได้เป็นจำนวนเงินหลายเท่าตัว

กล่าวคือ  โดยปรกติแล้วสิ่งของที่ส่งมาจากประเทศอังกฤษ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละคนจะต้องชำระเงินค่าเครื่องหมายชุดวูดแบดจ์ ในราคาที่สูงมาก  เพราะต้นทุนการผลิตในอังกฤษสูง ค่าแรงงานสูงกว่าในประเทศไทย และยังต้องบวกค่าขนส่งเข้าไปอีก

–  ประหยัดเงินตราของประเทศ ไม่ให้รั่วไหลไปต่างประเทศได้เป็นจำนวนปีละมาก ๆ

–  ประหยัดเวลาลงได้มาก เพราะโดยปกติแล้วชุดของเครื่องหมายวูดแบดจ์ที่ส่งมาจากประเทศอังกฤษนั้น เราต้องเสียเวลาในการรอคอยนานมาก เพราะนับตั้งแต่วันที่ส่งรายชื่อผู้สำเร็จการฝึกอบรม ฯ ขั้นวูดแบดจ์ไปให้กิลเวลล์ปาร์คแล้ว ต้องรอคอยถึง 8 –10 เดือน เป็นอย่างน้อย เพราะทางกิลเวลล์จัดส่งทางเรือ การดำเนินการจัดส่งดังกล่าวกว่าของจะมาถึงกรุงเทพฯ จึงใช้เวลานานมาก

ในที่สุดทางศูนย์ฝึก ฯ กิลเวลล์ปาร์ค นายจอห์น  เทอร์แมน  ตกลงอนุญาตให้คณะลูกเสือแห่งชาติออกวุฒิบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม ฯ ขั้นวูดแบดจ์  ขึ้นเอง  และมอบลิขสิทธิ์ให้แก่คณะลูกเสือแห่งชาติในการจัดทำผ้าผูกคอ   กิลเวลล์ และเครื่องหมายวู้ดแบดจ์ โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แม้แต่บาทเดียวคณะลูกเสือแห่งชาติจึงมอบให้องค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้จัดผลิตผ้าผูกคอกิลเวลล์และเครื่องหมายวู้ดแบดจ์ ขึ้นจำหน่ายให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม ฯ ขั้นวู้ดแบดจ์ ในราคาที่ประหยัดลงหลายเท่าตัว  พร้อมทั้งยังได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทันใจในการรับ เครื่องหมายวู้ดแบดจ์  ผ้าผูกคอกิลเวลล์ และวุฒิบัตร ฯ เป็นอย่างมาก